วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2561

เครื่องแขวนไทย : ศิลปะและสิริมงคล 1

เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สตรีในราชสำนักได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ใช้ตกแต่งปราสาทราชมณเฑียรและวัดวาอาราม เดิมทำจากดอกไม้สด ต่อมามีการพัฒนามาใช้วัสดุทดแทนแบบต่างๆ แต่ไม่ค่อยพบเห็นแพร่หลายนัก เพราะต้องใช้เวลาและฝีมือในการทำสูงมาก


หน้าที่ของเครื่องแขวนเหล่านี้ นอกจากใช้เพื่อตกแต่งอาคารให้สวยงามและเป็นเครื่องบูชาพระแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดกระแสพลังงานที่ดี เป็นการส่งเสริมสิริมงคลในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบข้อนี้

เครื่องแขวนดอกไม้สด ทำจากดอกรักและดอกกุหลาบ


ความเป็นมาของเครื่องแขวน

สันนิษฐานว่า งานดอกไม้สด ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัย พุ่ม หรือเครื่องแขวน คงเป็นงานฝีมือที่สืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ครั้งเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในประดิษฐ์ดอกไม้ คือ เจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่านยังได้ฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาแก่พระธิดาและพระนัดดา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ให้เป็นช่างดอกไม้สืบวิชาต่อมา

งานดอกไม้สดมีพัฒนาเรื่อยมา และมีหลักฐานปรากฏชัดเจนมากขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทั้งในด้านการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และภาพถ่าย


 
หม่อมศรีพรหมมากำลังร้อยมาลัย 
ภาพจาก 

เนื่องจากเราค้าขายกับชาวต่างชาติ หลายชาติหลายภาษา ทำให้รูปแบบของเครื่องแขวนดอกไม้สดได้รับการพัฒนาให้หลากหลาย เช่น การทำล้อโคมจีน หรือโคมไฟยุโรป เป็นต้น

ประกอบกับเจ้านายฝ่ายในและข้าหลวงมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการประกวดประขัน คิดประดิษฐ์งานดอกไม้สดให้งดงาม แปลกตา

โดยส่วนใหญ่ทำเพื่อบูชาพระและใช้ในพระราชพิธี เช่น การร้อยพวงมาลัยเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงนำไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระแก้วมรกต การทำเครื่องแขวนเพื่อนำไปประดับตามพระที่นั่งต่างๆ หรือใช้ตกแต่งช่องประตูหน้าต่างเมื่อมีงานพระราชพิธี

ในยุคนื้ ผู้ที่มีชื่อเสียงในการประดิษฐ์งานดอกไม้สด ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดากรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ 
พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว


การประดิษฐ์ดอกไม้สดกระจายไปตามตำหนักต่างๆ เหล่าข้าหลวงไม่ว่าตำหนักใดก็ได้รับการฝึกหัด ต่อมาเมื่อออกเรือนไป หรือออกไปอาศัยนอกวัง ก็นำวิชาความรู้เหล่านี้ติดตัวออกไปเผยแพร่สู่ภายนอก

ปัจจุบัน ภายในพระราชวัง ยังคงมีการประดิษฐ์งานดอกไม้สด และดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยวัสดุอื่นทดแทน เพื่อใช้การพระราชพิธีต่างๆ โดยมีข้าหลวงฝ่ายในเป็นผู้รับหน้าที่ในการจัดทำ

ดังเช่น มาลัยข้อพระกร ที่ผู้เฝ้าถวายเมื่อรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ในงานต่างๆ เครื่องแขวนที่ประดับตกแต่งในพระที่นั่ง งานพุ่มทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ในงานพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้น


มาลัยข้อพระกร พุดล้วนเข้าช่อดอกไม้ประดิษฐ์จากกล้วยไม้สีม่วง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี


เครื่องแขวน เดิมนั้นทำจากดอกไม้สด แต่เมื่อนำขึ้นประดับแล้ว ไม่กี่วันดอกไม้ก็เหี่ยวแห้ง แต่การแขวนประดับนั้นบางคราวก็แขวนกันไว้ยาวนาน จึงเกิดการหาวัสดุทดแทนที่จะทำให้เครื่องแขวนคงความสวยงามอยู่ได้หลายเพลา

กำเนิดของวัสดุสมัยใหม่ เช่น รักพลาสติก ดอกไม้ผ้า ลูกปัด ดอกไม้ดินปั้น จึงถูกนำมาใช้ทำเครื่องแขวน ด้วยความคงทน คุ้มค่ากับการเสียเวลาในการประดิษฐ์ เครื่องแขวนที่ทำจากวัสดุประดิษฐ์จึงได้รับความนิยมแทนของสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น