วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตัวอย่างการจัดแท่นด้วยผลิตภัณฑ์แก้มนวล

#การจัดตกแต่งแท่นบูชา ด้วย #บุหงาพัดโบก #พุ่ม และ #เครื่องแขวน ของแก้มนวล

แอดมินรวบรวมเอาภาพการจัดแท่นบูชาที่ถูกต้อง และการตกแต่งแท่นบูชาด้วยผลิตภัณฑ์ของแก้มนวล ได้แก่ บุหงาพัดโบก พุ่มทองน้อย และเครื่องแขวนลูกปัด มาให้ลูกเพจได้ดูเป็นตัวอย่าง และเป็นแนวทางในการจัดแท่นบูชาให้สวยงาม และมีพลังนะคะ

ตัวอย่างการจัดแท่นแบบพระพุทธรูปองค์เดียว ถวายตกแต่งด้วยบุหงาพัดโบก และพุ่มทองน้อย


ในกรณีที่มีพระหรือเทวรูปประดิษฐานเพียงองค์เดียว เราวางพัดโบกไว้ขนาบเทวรูปได้เลยนะคะ ซึ่งพัดโบกนั้นจัดทำเป็นคู่ และมีหันซ้ายและขวา ลูกเพจเลือกดูว่า จะจัดแบบหันเข้าหาพระ หรือหันออกก็ได้นะคะ แต่แอดมินชอบแบบหันออกมากกว่า

โดยการจัดวางพัดโบก ให้สังเกตริบบิ้นดอกไม้ที่ตกแต่งอยู่ใต้ตัวพัดโบกนะคะ ให้วางด้านที่มีริบบิ้นติดอยู่นี้ออกด้านหน้าค่ะ

ตัวอย่างการจัดแท่นเทวรูปที่มีองค์เดียว นอกจากเครื่องบูชาปกติแล้ว ถวายบุหงาพัดโบก และพุ่มผ้าตาดทองน้อยลายคดกฤชเพิ่มเติม


ในกรณีที่เรามีพระและเทวรูปหลายองค์จัดอยู่บนแท่นเดียวกัน เราสามารถวางพัดโบกตรงตำแหน่งก็ได้นะคะ ที่เห็นว่าจะช่วยเสริมให้เท่นดูสวยงาม สมบูรณ์ แต่ต้องวางเป็นคู่ เช่น อยู่ด้านบน ขนาบองค์พระประธาน หรืออยู่ด้านล่าง ก็ให้จัดเป็นคู่ซ้ายขวา จะหันเข้าหรือออก อย่าลืมสังเกตให้ด้านที่ติดริบบิ้นดอกไม้หันออกด้านหน้าก็พอค่ะ

ตัวอย่างการจัดแท่นแบบพระหลายองค์ ถวายด้วยบุหงาพัดโบก และพุ่มทองน้อย ตำแหน่งที่วาง นิยมวางตรงกลาง จะด้านบนหรือล่าง ดูแล้วแต่ความเหมาะสม


การจัดวางพุ่มก็เช่นกัน เราต้องจัดวางเป็นคู่ ที่อยู่ตรงตำแหน่งไหนก็แท่นก็แล้วแต่ เลือกวางตามความสวยงามและเหมาะสมนะคะ

การตกแต่งด้วยเครื่องแขวนลูกปัด อาจจัดประดับตกแต่งเป็นฉากด้านหลัง แขวนไว้ 2 ข้างแท่น หรือหากเป็นพวงระย้า ก็โยงห้อยจากด้านบนลงมาก็ได้ค่ะ 

ตัวอย่างการจัดแท่นบูชาที่มีพระหลายองค์ ตกแต่งฉากด้านหลังด้วยเครื่องแขวนลูกปัด ประดับแท่นด้วยบุหงาพัดโบก พุ่มผ้าตาดทองน้อย และพุ่มทองน้อยบานไม่รู้โรยย้อมสี รวมทั้งการถวายสุคนธบูชาด้วยกลิ่นหอมสกัดจากธรรมชาติ คือ น้ำกุหลาบออร์แกนิค และน้ำมันหอมระเหย


การถวายบูหงาพัดโบก เป็นการถวายเครื่องหอม เป็นสุคนธบูชา และเป็นสัญลักษณ์มงคล พัดเอาโชคร้ายออกไป โบกโชคลาภเข้ามา และเป็นเครื่องสูง ส่งเสริมด้านวาสนาบารมี

ตัวอย่างการจัดแท่นแบบเทวรูปหลายองค์ ตกแต่งด้วยบุหงาพัดโบกและพุ่มผ้าตาดทองน้อย นอกจากกระถางธูปแล้ว ยังมีเตากำยานอยู่ด้านหน้า เพราะต้องการถวายทั้งการจุดธูปและกำยาน


การถวายพุ่มทองน้อย เป็นงานฝีมืออันประณีตของราชสำนัก ใช้แทนพุ่มดอกไม้สด เป็นเครื่องตกแต่งเพื่อการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความประณีต ส่งเสริมด้านฐานะความเป็นอยู่ และวาสนาบารมี

การถวายเครื่องแขวนลูกปัด แต่ละรูปทรงส่งเสริมบารมีด้านต่างๆ กัน เช่นการดักโชคลาภ การเสริมบารมีด้านยศศักดิ์ เป็นต้น ดูเพิ่มเติมได้ที่
http://gaemnualthaifragrance.blogspot.com/2018/03/1.html


>>>ตัวอย่างการจัดแท่นเพิ่มเติม<<<

แท่นบูชาขนาดใหญ่มีพระและเทวรูปหลายองค์ ถวายบุหงาพัดโบก พุ่มทองน้อยทั้ง ๒ แบบ และมาลัยลูกปัด




ตัวอย่างแท่นบูชาของลูกค้า ถวายบุหงาพัดโบก และเครื่องแขวนพวงระย้าลูกปัด

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

ดินสอพองสะตุ

สินค้าแก้มนวล ชุดเบ็ดเตล็ด

#ดินสอพองสะตุ 100 กรัม 40 บาท (ยังไม่รวมค่าจัดส่ง)




ดินสอพองสะตุแล้ว เนื้อละเอียด มีฤทธิ์เย็น กระชับรูขุมขน เป็นไอเท็มพื้นฐานสำหรับการทำผิวสวยแบบไทยๆ

การสะตุ คือ การทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลง หรือ ทำให้พิษของตัวยาน้อยลง หรือทำให้ตัวยานั้นสะอาดขึ้น ปราศจากเชื้อโรค

ส่วนใหญ่ใช้ความร้อนในการสะตุ ดินสอพองที่สะตุแล้ว จะมีเนื้อเนียนละเอียด และผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาดปลอดภัย

ประโยชน์ของดินสอพอง

ดินสอพองมีฤทธิ์เย็น ใช้พอกเพื่อดูดพิษ เช่น พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พอกแก้ปวด บวม ฟกช้ำ แก้ผดผื่น เป็นยาห้ามเหงื่อ ดูดน้ำเหลืองเสียได้ดี

ดินสอพองใช้ทำอะไรได้บ้าง วิธีใช้แบบง่ายๆ ทั่วไป

1 ใช้ผงดินสอพองสะตุ ผสมกับน้ำสะอาดให้พอเหลว ทาบนหน้า คอ และตามตัว ช่วยให้หายคัน แก้ผดผื่น
สมัยเด็กๆ ที่บ้านต้องมีดินสอพองสะตุเก็บไว้ หน้าร้อนผดผื่นมา อาบน้ำเสร็จโดนจับปะแป้งดินสอพอง แป๊บๆ หายคันแล้ว สบายตัว

2 ผสมดินสอพองสะตุกับน้ำอบแก้มนวล ให้พอเหลว ทาบนหน้า และตามตัว ช่วยให้หายคัน เย็นสบาย และมีกลิ่นหอมชื่นใจ ดับร้อน แก้ผดผื่น

3 ใช้แก้หัวโน ฟกช้ำ ผสมดินสอพองกับน้ำมะนาว ทาบริเวณหัวโน ฟกช้ำ บวม จะช่วยให้อาการดีขึ้น

4 พอกหน้า ผิวจะเนียน สดใส เปล่งปลั่งขึ้นทันตา ผสมดินสอพองกับน้ำมะนาวให้พอเหลว ทาพอกหน้าให้ทั่ว เว้นรอบดวงตา และรอบปาก รอจนดินสอพองแห้งล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซับหน้าให้แห้ง ผิวจะเนียน กระชับขึ้น ให้ทำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

5 ใช้แต้มสิว ผสมดินสอพองกับน้ำมะนาวให้พอเหลว พอกหรือแต้มบริเวณที่เป็นสิว พอดินสอพองแห้งก็ล้างออกด้วยน้ำเปล่า จะช่วยทำให้ลดการอักเสบ สิวแห้งไว ให้แต้มทุกคืนจนสิวแห้ง

6 แก้พิษแสบร้อนจากพริก ดินสอพองผสมน้ำทาบริเวณที่แสบร้อน จะช่วยให้ดีขึ้นได้


สูตรดินสอพองกับสมุนไพรอื่นๆ

1 ผสมดินสอพองกับผงถ่านไม้ไผ่ และน้ำ ทาพอกเพื่อดูดถอนพิษ หรือใช้แปรงฟัน ช่วยให้ฟันขาวสะอาด ซับพิษในช่องปาก

2 ผสมดินสอพองกับน้ำขมิ้น หรือผงขมิ้น ทาแผลพุพอง แผลน้ำเหลืองเสีย ลมพิษ ผื่นคัน

3 ผสมดินสอพองกับน้ำมันมะพร้าว นำดินสอพองมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวให้ข้น แล้วพอกหน้าไว้ประมาณ 20 นาที จะช่วยกระชับรูขุมขนและทำให้ผิวหน้าเต่งตึง เนียนสวย และหลังจากใช้ดินสอพองพอกหน้าแล้ว ก็สามารถนำน้ำมันมะพร้าวมาทาผิวได้อีก เพื่อบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น

4 ผสมกับสมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น กากใบย่านางที่เราคั้นเอาน้ำออกแล้ว นำมาผสมกับดินสอพอง ใช้พอกหน้า ช่วยดับพิษร้อน ช่วยให้หน้าสว่างใส หรือใช้เป็นยารักษาแผลจากเริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง

5 สูตรดินสอพองผสมสมุนไพรเพื่อดูดสารพิษและหินปูนส่วนเกินของ อ.สุทธิวัสส์ คำภา
 จากหนังสือ กินเป็น ลืมป่วย เรียบเรียงโดย นิพนธ์ วีระธรรมานนท์

ดินสอพอง ครึ่งกิโลกรัม
ขมิ้นชันผง 1 ช้อนชา
ไพลผง 2 ช้อนชา
ทานาคา 3 ช้อนชา

ผสมให้เข้ากัน เก็บใส่ขวดหรือกระปุก ตักแบ่งมาใช้ โดยตักมาตามต้องการผสมน้ำแล้วทาพอกหน้า แขนขา หรือตามบริเวณที่ต้องการ สามารถผสม นม โยเกิร์ต น้ำผึ้ง หรือน้ำมะนาวเพิ่มได้ตามชอบ

ประโยชน์
-ดึงสารพิษออกจากผิวหนัง ดูดหินปูนและสารพิษออกทางรูขุมขน
-เป็นการแลกเปลี่ยนทางธรรมชาติ ของเซลล์ผิว เมื่อคายสิ่งที่ไม่ดีออกไป ก็ดูดสิ่งที่ดีเข้ามา เป็นการให้อาหารทางผิวโดยไม่มีสารเคมี

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

วิธีสรงน้ำพระในบ้านเนื่องในวันสงกรานต์

       ช่วงวันสงกรานต์ เป็นธรรมเนียมที่เราชาวไทย จะอัญเชิญพระและเทวรูปในบ้านมาทำความสะอาด และถวายน้ำสรง ทำความสะอาดแท่นบูชา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล





        สำหรับคนรุ่นเก่า หรืออยู่ในครอบครัวที่ปู่ย่าตายายปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำ เคยเห็นเคยมีประสบการณ์ก็จะรู้ขั้นตอนในการสรงน้ำพระ

        ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ย่อมเกิดความขรุขระ ไม่แน่ใจ บ้างก็สับสน ว่าทำอย่างไรจึงถูกต้องและเป็นสิริมงคลอย่างแท้จริง

        แก้มนวลแนะนำวิธีการสรงน้ำพระ แบบไม่ยุ่งยาก เรียบง่าย และเป็นมงคลดังนี้ค่ะ

สิ่งที่ต้องเตรียม
1 น้ำสะอาด
2 น้ำอบหรือน้ำปรุงแก้มนวล
3 ขันหรือภาชนะผสมน้ำสรง (ของใหม่ หรือที่เตรียมไว้สรงน้ำโดยเฉพาะ)
4 จอกน้ำหรือขันน้ำเล็กไว้ตักน้ำ (ของใหม่ หรือที่เตรียมไว้สรงน้ำโดยเฉพาะ)
5 ถาดรองน้ำสรง (ของใหม่ หรือที่เตรียมไว้สรงน้ำโดยเฉพาะ)
6 ผ้าสะอาดสำหรับเช็ดพระ (ของใหม่ หรือที่เตรียมไว้สรงน้ำโดยเฉพาะ)
7 โต๊ะสำหรับวางพระไว้ชั่วคราว
8 ภาชนะรองรับน้ำที่สรงแล้ว


น้ำอบและน้ำปรุงแก้มนวล

ขั้นตอน
1 บอกกล่าวพระและเทวรูปที่เราต้องการทำความสะอาดและสรงน้ำ โดยยกมือไหว้ แล้วบอกท่านดังนี้
“ข้าฯ แต่องค์พระ (ชื่อพระ หากไม่มีก็ใช้คำว่า พระพุทธรูป) พระ...(เอ่ยชือพระทุกองค์ที่อยู่บนแท่น) เนื่องในโอกาสดิถีวันสงกรานต์ ข้าพเจ้าขออนุญาตในการอัญเชิญพระพุทธรูป (และเทวรูป)ของทุกพระองค์บนแท่นบูชานี้ มาทำความสะอาดและสรงน้ำ ขอได้โปรดทรงอนุญาตและประทานสิริมงคลในการณ์นี้ด้วยเทอญ”




2 จากนั้นยกพระและเทวรูปออกจากแท่นหรือโต๊ะหมู่ มาวางบนโต๊ะอื่นชั่วคราว แล้วเช็ดทำความสะอาดแท่นบูชา ตลอดจนเครื่องบูชาทั้งหมด ยกเว้นกระถางธูปให้เช็ดแต่ภายนอก ตักผงธูปที่ล้นเกินออกบ้าง แต่ห้ามเทเถ้าและทรายในกระถางออกมาทั้งหมด

3 ผสมน้ำสะอาดลงในภาชนะ กะปริมาณให้พอกับจำนวนพระที่มี ถ้าไม่พอค่อยผสมใหม่ก็ได้ เทน้ำอบแก้มนวล หรือน้ำปรุงแก้มนวลลงไปให้พอน้ำมีกลิ่นหอม คนให้เข้ากัน

4 เชิญพระประธานมาวางบนถาดรองน้ำสรง ตักน้ำสรงรดลงบนองค์พระให้ทั่ว โดยการรดแต่ละจอกให้สวดคาถาสั้นประจำองค์พระ

เช่น พระพุทธรูป สวด นโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พระคเณศ สวด โอม ศรี คเณศายะ นะมะ

จำนวนขันหรือจอกที่รด ขึ้นอยู่กับขนาดพระและเทวรูป นับเป็นจำนวนคี่ ได้แก่
พระหน้าตัก 7 นิ้ว ใช้ 7 จอก
พระหน้าตัก 5 นิ้ว ใช้ 5 จอก
พระหน้าตัก 3 นิ้วใช้ 3 จอก
เล็กกว่านี้ใช้จอกเดียว

5 แล้วยกพระขึ้นจากถาด ใช้ผ้าเช็ด ซับให้แห้ง แล้วอัญเชิญกลับไปไว้ที่เดิม หรือจะวางไว้บนโต๊ะอื่นชั่วคราว สรงน้ำเสร็จทั้งหมดค่อยอัญเชิญกลับก็ได้

6 ลำดับการอัญเชิญพระมาสรงน้ำ ให้เชิญองค์ประธานมาก่อน แล้วลดหลั่นตามลำดับศักดิ์และขนาดพระและเทวรูป (หากจัดแท่นอย่างถูกต้อง ก็อัญเชิญมาตามลำดับได้เลย)

แต่ถ้าไม่ได้จัดแท่นตามหลักเทวศาสตร์ไว้ ให้เชิญ พระพุทธรูปมาก่อน ตามด้วยพระโพธิสัตว์ เมื่อเสร็จจากชุดนี้แล้ว ให้เทน้ำที่อยู่ในถาดสรงออกไป (ใส่ในภาชนะอื่น)

จากนั้น เป็นเทพฝ่ายต่างๆ เช่น หากมีเทพอินเดีย ก็เชิญเทวรูปสายอินเดียมาสรงน้ำทีละองค์ โดยเชิญองค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมาสรงก่อน แล้วเทน้ำในถาดสรงออกไป

แล้วจึงเชิญเทพสายอื่นๆ มาสรงน้ำเป็นชุดๆ

ลำดับพระตามสายวิชาที่อัญเชิญมาสรง สำหรับผู้ที่บูชาพระหลายสาย
1 พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ (ถ้ามีทั้งพระโพธิสัตว์ชายและหญิง ให้สรงน้ำฝ่ายชายก่อน แล้วปิดท้ายด้วยฝ่ายหญิง)
2 เทพสายอินเดีย
3 เทพสายจีน
4 รูปปั้นพระเกจิ พระสงฆ์
5 เทพฝ่ายไทย หากมีทั้งชายและหญิง ให้สรงน้ำฝ่ายชายก่อน แล้วปิดท้ายด้วยฝ่ายหญิง
6 เทพพื้นเมือง เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ อดีตกษัตริย์

        หากพระหรือเทวรูป มีคราบฝุ่นเกาะมาก ควรอัญเชิญไปทำความสะอาดก่อน หากเป็นเนื้อที่ทนน้ำให้ล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน (ใหม่ๆ) เปิดน้ำจากก๊อกรดไล่ฝุ่นออกให้หมด ใช้มือหรือผ้าใหม่เช็ดถูให้สะอาด แล้วค่อยอัญเชิญมาสรงน้ำที่เราผสมไว้อีกที
       
        เมื่อสรงน้ำพระครบทุกองค์แล้ว อัญเชิญกลับที่ จัดแท่นบูชาให้เรียบร้อย ถวายดอกไม้สด แล้วจุดธูปเทียนบูชาแบบปกติ จะถวายเครื่องหอมเพิ่มเติมในตอนบูชาก็ได้นะคะ เช่น น้ำกุหลาบ น้ำปรุง หรือน้ำอบ ก็ได้ อธิษฐานขอพรเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ต่อไป

        ส่วนน้ำที่สรงเสร็จแล้ว ที่แอดมินให้เทเก็บไว้ ถือว่าเป็นของมีสิริมงคล ให้นำมาปะพรมผู้บูชาและคนในบ้าน ที่เหลือให้เทตรงหน้าบ้าน หากเป็นห้องคอนโด ให้เทที่ระเบียงห้อง 

        เป็นอันเสร็จพิธีสรงน้ำพระช่วงสงกรานต์แบบเรียบง่าย แอดมินขอให้ทุกท่านได้รับพรอันเป็นมงคลในพิธีสรงน้ำพระวันสงกรานต์ถ้วนทั่วทุกคนเทอญ

*หมายเหตุ น้ำอบแก้มนวล ทำสดใหม่ทุกปีก่อนเดือนเมษายน สอบถามกันเข้ามาได้นะคะ
         
ดูรายการสินค้าและราคาแก้มนวลได้ ที่นี่ (รอลิงค์)

สอบถามสั่งซื้อได้ทางไลน์ : mystica4u  email: gaemnual@hotmail.co.th

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้จากหน้าเพจแก้มนวลค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

บุหงาพัดโบกคู่แก้มนวล

สินค้าแก้มนวล ชุด #เครื่องหอมไทย

บุหงาพัดโบกคู่แก้มนวล พร้อมขาตั้งทองเหลือง สูงประมาณ 1 ฟุต ราคา 495 บาท (ยังไม่รวมค่าส่ง)

#เครื่องหอมสำหรับบูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์




บุหงาพัดโบกเป็นงานฝีมือที่คิดค้นขึ้นจากช่างฝีมือในวัง และถ่ายทอดให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยในวังหญิง

จำลองรูปแบบเครื่องสูงในราชสำนัก ที่เรียกว่า พัดโบกรูปช้อย บรรจุด้วยบุหงาอบกลิ่นดอกไม้ไทยที่หอมละมุนละไม รูปแบบประณีตงดงาม เดิมทำขึ้นเพื่อเป็นของชำร่วย

ต่อมา “แก้มนวล” พบว่า ด้วยรูปทรงและกลิ่นหอมของบุหงาพัดโบก มีความเป็นสิริมงคล เหมาะแก่การทำเป็นเครื่องบูชา จึงได้นำมาตกแต่งใหม่ และจัดเป็นคู่ แล้วลองนำขึ้นถวายบูชาบนโต๊ะหมู่และแท่นบูชาส่วนตัว ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกระแสทิพย์บนแท่นบูชา เป็นไปในทางที่ดี สว่างไสว และทั้งองค์พระและเทพล้วนพอพระทัยในการถวายบูชานี้

จึงได้นำมาจัดทำเป็นบุหงาพัดโบกคู่แก้มนวล สำหรับใช้ประดับตกแต่งแท่นบูชา และเป็นการถวายสุคนธบูชา


บังเกิดเป็นสิริมงคล 3 ประการ (ข้อมูลเป็นลิขสิทธิ์ของแก้มนวลนะคะ)  คือ


*รูปแบบของเครื่องสูง ให้สิริมงคลด้านบารมี ฐานะและยศศักดิ์


**ความหมายของพัดโบก เป็นสัญลักษณ์ของการพัดสิ่งชั่วร้ายให้จากไป และโบกนำมาแต่โชคดี


***กลิ่นหอมให้ความรื่นรมย์แก่ดวงชะตา ด้วยเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยของหอมเรียกว่า สุคนธบูชา 


(*ข้อความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ “แก้มนวล” ไม่อนุญาตให้ผู้ใดนำไปใช้เผยแพร่เพื่อการค้าหรือประกอบธุรกิจ)

ตัวอย่างการถวายพุ่มและพัดโบกบนแท่นบูชา


วิธีใช้

เมื่อได้รับแล้ว ให้แกะถุงแก้วที่ตัวพัดโบกออก จากนั้นนำไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนแท่นบูชา โดยวางเป็นคู่ จะหัดเข้าหรือออกก็ได้ ตามความสวยงาม และจังหวะช่องไฟในการจัดแท่น

 

เมื่อกลิ่นหอมจางลง สามารถเติมกลิ่นได้ด้วยการให้ใช้น้ำปรุงแก้มนวลหยด หรือพรมด้านหลังของพัดโบก ถ้ามีเวลา นำไปอบในภาชนะปิดสัก 3 วันจะยิ่งหอมทนขึ้น

 

พัดโบกคู่หนึ่งๆ อยู่ทนนานเป็นปี ถ้าตัวใบพัดโบกไม่แตกกรอบ บุหงาภายในไม่ป่นเป็นผง หรือถูกแมงกิน ก็ยังใช้งานได้ค่ะ

 

ส่วนขาตั้งเป็นทองเหลือง สามารถนำมาขัดให้เงาได้ตามต้องการค่ะ ใช้วิธีเดียวกับการขัดเครื่องใช้ทองเหลืองทั่วไป



ตัวอย่างการถวายบุหงาพัดโบกเป็นเครื่องบูชาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า


ดูตัวอย่างการจัดแท่นบูชาด้วยผลิตภัณฑ์แก้มนวลเพิ่มเติมได้ ที่นี่

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2561

เครื่องแขวนไทย : ศิลปะและสิริมงคล 3

เครื่องแขวนแก้มนวล

แก้มนวลได้คัดเครื่องแขวนที่มีรูปทรงสวยงาม และสามารถส่งเสริมสิริมงคลตามหลักฮวงจุ้ยมาจัดทำเป็นสินค้า โดยใช้วัสดุทดแทนดอกไม้สด ได้แก่ ลูกปัดเลียนแบบคริสตัล รักประดิษฐ์ ดอกไม้ผ้า เป็นต้น

สินค้าเครื่องแขวนของแก้มนวล มีดังนี้

1 เครื่องแขวนดอกไม้ประดิษฐ์


วิมานพระอินทร์ เครื่องแขวนประดิษฐ์จากรักพลาสติคและดอกไม้ผ้า

         เป็นเครื่องแขวนขนาดมาตรฐานเท่างานดอกไม้สด แต่เปลี่ยนวัสดุเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ คือ ดอกรักพลาสติค และดอกไม้ผ้า เพื่อความคงทนและใช้งานได้ยาวนาน

สามารถดูรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้

รอลิงค์


2 เครื่องแขวนจำลองลูกปัด

วิมานพระอินทร์ กลิ่นตะแคง และพวงระย้า จากลูกปัดเลียนแบบคริสตัล


เครื่องแขวนชาววังจำลองด้วยลูกปัด เน้นความละเอียดประณีต พิถีพิถัน ทำด้วยมือทุกขั้นตอน แต่ละชิ้นจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุและการออกแบบในแต่ละครั้ง ใช้แขวนประดับตกแต่งตามที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม และสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ ดึงดูดพลังงานบวก และดักกรองพลังงานลบ

สามารถดูรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมได้ที่นี่


การใช้เครื่องแขวนเพื่อดึงดูดพลังงานบวกและดักกรองพลังงานลบ หรือการเสริมสิริมงคลแบบฮวงจุ้ย เป็นความรู้ที่ไม่เปิดเผย หรือแพร่หลาย ช่างฝีมือโบราณในวัง ต่างรู้ถึงผลที่ดีของเครื่องแขวน แต่ไม่มีการบอกเล่า หรือจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงคุณประโยชน์ในการใช้เพื่อสิริมงคล

ทางแก้มนวลได้นำความรู้โบราณผสานกับความรู้ทางด้านเทววิทยาของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ คัดสรรเครื่องแขวนที่มีลักษณะดี ส่งผลด้านสิริมงคล และวิธีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้


วิธีการใช้เครื่องแขวนขนาดเล็ก (เครื่องแขวนลูกปัด)

1 นำมาแขวนไว้ตรงกระจกส่องหลังในรถของเรา เพื่อเพิ่มสิริมงคลในด้านต่างๆ

วิมานพระอินทร์ เครื่องแขวนลูกปัด ใช้แขวนหน้ากระจกรถ

ปัจจุบันนี้เราใช้ชีวิตในรถกันมาก เดินทางไปที่ต่างๆ เราก็รับพลังของสิ่งแวดล้อมนั้นเข้าสู่ตัวเรา โดยเฉพาะผ่านทางด้านหน้ารถ

การใช้เครื่องราง หรือของฮวงจุ้ยมาตกแต่งบริเวณหน้ารถ กระจกส่องหลัง คอนโซลหน้า จะช่วยในการลดเคราะห์ร้าย อันตรายต่างๆ ขณะเดี๋ยวกัน ก็เสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง

เครื่องแขวนลูกปัด เป็นการเสริมสิริมงคลที่สวยงาม และง่าย เพียงเลือกแบบเครื่องแขวนที่ชอบแขวนไว้หน้ารถเท่านั้น


2 ใช้ประดับตกแต่งในบ้าน บนโต๊ะทำงาน ห้องรับแขก

การประดับเครื่องแขวนประดิษฐ์ กลิ่นตะแคง ไว้หน้าบ้าน ช่วยดักจับโชคลาภ

ใช้รูปทรงของเครื่องแขวนดึงดูดพลังโชคลาภเข้าสู่ที่พักอาศัย ร้านค้า แนะนำให้ตกแต่งในบริเวณที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้าน เช่น ประตูทางเข้าบ้าน ห้องรับแขก โต๊ะทำงาน


3 ใช้ตกแต่งแท่นบูชา หรือห้องพระ

การตกแต่งแท่นบูชาด้วยเครื่องแขวนขนาดเล็ก

เป็นการถวายเครื่องบูชาแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มณฑล หรือที่เรียกกันว่า มันดาลา Mandala (อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์) ของห้องพระสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรแขวนเหนือโต๊ะหมู่บูชาในตำแหน่งที่อยู่เหนือกระถางธูปจะดีที่สุด หรือจะนำมาตกแต่งเป็นฉากหลังของแท่นบูชาก็ได้


ชนิดและพลังสิริมงคลของเครื่องแขวน


วิมานพระอินทร์

การตกแต่งที่อยู่ โต๊ะหมู่ หรือถวายเครื่องแขวนวิมานพระอินทร์แก่วัดวาอาราม จะส่งเสริมด้าน วาสนาบารมี ยศถาบรรดาศักดิ์ และสร้างกระแสที่ดีแก่ที่อยู่อาศัย ช่วยส่งเสริมเรื่องฐานะความเป็นอยู่

เคล็ดลับ : ใครที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ควรจัดหาเครื่องแขวนชนิดนี้ (เครื่องแขวนลูกปัด) มาตกแต่งแท่นบูชา หรือถวายเครื่องแขวนชนิดนี้ (ขนาดมาตรฐาน ดอกไม้ประดิษฐ์) เป็นเครื่องบูชาแก่วัดที่เรามีศรัทธา จากนั้นไปถวายบุญ อธิษฐานกับเทวรูปของพระแม่ธรณี



กลิ่นจระเข้

ใช้แขวนประดับตกแต่งห้อง กระจกหน้ารถ หรือห้องพระ แท่นบูชา
ช่่วยเสริมฮวงจุ้ยในเรื่องโชคลาภ และคุ้มครอง



กลิ่นตะแคง

เป็นเครื่องแขวนที่มีลักษณะเป็นตาข่ายคล้ายใยแมงมุม กลิ่นตะแคงจึงทำงานคล้ายกับดรีมแคชเชอร์ คือ ดักสิ่งร้ายๆ ไม่ให้ผ่านเข้ามา และมีรูปทรงในการดักจับด้านโชคลาภที่ดีที่สุดในบรรดาเครื่องแขวนทั้งหลาย อีกทั้งลักษณะดูเป็นสากล จึงเข้ากับการตกแต่งร่วมสมัยได้อย่างไม่เคอะเขิน

สามารถนำไปตกแต่งบ้าน ห้องทำงาน กระจกหน้ารถ ห้องพระ แท่นบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลด้าน #โชคลาภ


การตกแต่งบ้านเรือน หรือแท่นบูชาด้วยกลิ่นตะแคง จะช่วยสลายพลังลบ ดึงพลังบวก ดักจับโชคลาภ ดักไม่ให้เงินไหลออกได้ง่าย

การถวายบูชาเครื่องแขวนชนิดนี้กับวัดที่เราศรัทธา จากนั้นให้ไปอธิษฐานกับพระแม่ธรณี จะทำให้เกิดโชคลาภ และโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต



พวงระย้า

เป็นเครื่องแขวนที่มีรูปทรงคล้าย #แชนเดอเลียร์ มีลักษณะเป็นช่อทรง 6 เหลี่ยม ตัวพวงใช้วิธีการถักตาข่ายจากนั้นตกแต่งด้วยสายโยง เฟื่อง และอุบะชนิดต่างๆ

การแขวนประดับเครื่องแขวนชนิดนี้ ไว้ในบ้าน แท่นบูชา หรือถวายแก่วัด #ส่งเสริมบารมีในด้าน #ความสูงศักดิ์อัครฐาน #ความมั่งมีศรีสุข และยังช่วยในการกระจายพลังด้านบวกในสถานที่นั้นให้เกิดความสมดุล

โดยเฉพาะหากแขวนเหนือโต๊ะหมู่พระ หรือแท่นบูชาเทพ ก็จะมีผลในการเร่งพลัง #Mandala ของแท่นบูชาพระและเทพให้เกิดดุลยภาพ เสถียรภาพ ทำให้ #รัศมีทิพย์ แข็งแกร่งหนักแน่น เพิ่มการปกป้องคุ้มครอง และเสริมบารมีในด้านต่างๆ ที่องค์พระและเทพแผ่บารมีให้อยู่แล้ว




เครื่องแขวนไทย : ศิลปะและสิริมงคล 2

รูปแบบของเครื่องแขวน

แม้เครื่องแขวนจะมีหลายรูปแบบตามแต่ช่างจะคิดประดิษฐ์ขึ้นมา หากแต่รูปแบบมาตรฐานที่นิยมใช้กันในวังหลวง มีอยู่ไม่มากนัก ได้แก่


หน้าช้างดอกไม้สด ทำจากดอกพุด ดอกรัก และจำปี

ตาข่ายหน้าช้าง เป็นเครื่องแขวนรูปตาข่าย 3 เหลี่ยม ด้านบนเป็นสายโยง ตกแต่งด้วยลูกลุ่ย และพวงอุบะ



วิมานพระอินทร์ประดิษฐ์ ที่ประดับอยู่ในพระตำหนัก

วิมานพระอินทร์ เป็นการนำตาข่าย 3 เหลี่ยม 2 ชิ้นมาโยงเข้าด้วยกัน จนดูเหมือนรูปทรงอาคารเรือนไทย ตกแต่งด้วยลูกลุ่ยและพวงอุบะเช่นกัน



กลิ่นจระเข้ ดอกไม้สด ทำจากดอกรักและดอกกล้วยไม้

กลิ่นจระเข้ เป็นการถักตาข่ายที่มีแกน 3 แกน เลียนแบบตัวจระเข้ ตกแต่งด้วยพวงอุบะ


 
กลิ่นตะแคง ดอกไม้ประดิษฐ์ทำจากรักพลาสติคและริบบิ้นต่วน

กลิ่นตะแคง เป็นการถักตาข่ายทรง 6 เหลี่ยม ทำสายโยงบนและล่าง ตกแต่งด้วยพวงอุบะ



พวงกลางหรือพวงระย้า เครื่องแขวนประดิษฐ์ ทำจากรักพลาสติคและดอกจำปากระดาษ เป็นแบบที่นิยมใช้ในวังหลวงปัจจุบัน

พวงกลาง หรือพวงระย้า มีทรงเป็นพวง 6 เหลี่ยม ใช้โครงรูปดาว ถักตาข่ายเป็นกระโปรง ตกแต่งด้วยเฟื่องและพวงอุบะ



พวงแก้ว ที่แขวนประดับพระเมรุมาศ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พวงแก้ว ใช้โครงลวดวงกลม ถักรักเป็นสายซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตกแต่งด้วยดอกข่า และพวงอุบะ พวงแก้วมักทำเป็นเครื่องแขวนขนาดใหญ่



พู่กลิ่นดอกไม้สด เป็นงานเย็บแบบดอกพุดแล้วนำมาร้อยต่อกัน

พู่กลิ่น มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ ใช้การเย็บประกอบร้อยประกอบกับหยวกกล้วย ตกแต่งด้วยพวงอุบะ นิยมใช้แขวนตรงมุม หรือช่องว่างเล็กๆ



โคมหวด เครื่องแขวนประดิษฐ์จากรักพลาสติคและริบบิ้นต่วน 

โคมหวด เป็นเครื่องแขวนที่ต้องใช้โครงลวดที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นทรงครึ่งวงกลม แล้วมาถักรักหุ้ม ประกอบตกแต่งด้วยเย็บแบบและพวงอุบะ

วัสดุที่ใช้  เดิมใช้ดอกไม้สดชนิดต่างๆ เช่น การถักตาข่าย ใช้ดอกรักหรือดอกพุด เย็บแบบด้วยกลีบกุหลาบ หรือกล้วยไม้ ดอกข่าทำจากกุหลาบหรือกล้วยไม้

ต่อมาใช้รักประดิษฐ์ที่ทำจากพลาสติค ริบบิ้นต่วนมาทำดอกข่า หรือใช้เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากผ้า

เมื่อวัสดุมีการพัฒนาขึ้น ก็มีผู้นำวัสดุใหม่ๆ มาทำเครื่องแขวน เช่น การใช้ดอกไม้ดินปั้น ดอกไม้ใยบัว และลูกปัดแบบต่างๆ


เครื่องแขวนจากงานลูกปัดที่ประดับในวัดราชบพิตรสถิตย์มหาสีมาราม

เครื่องแขวนได้รับการพัฒนาไปมาก แต่รูปแบบที่นิยมประดิษฐ์กันก็มีเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลาแล้วว่า เป็นแบบที่ใช้แขวนแล้วสวยงาม ลงตัว และให้ความเป็นสิริมงคลที่แท้จริง 

เครื่องแขวนไทย : ศิลปะและสิริมงคล 1

เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สตรีในราชสำนักได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ใช้ตกแต่งปราสาทราชมณเฑียรและวัดวาอาราม เดิมทำจากดอกไม้สด ต่อมามีการพัฒนามาใช้วัสดุทดแทนแบบต่างๆ แต่ไม่ค่อยพบเห็นแพร่หลายนัก เพราะต้องใช้เวลาและฝีมือในการทำสูงมาก


หน้าที่ของเครื่องแขวนเหล่านี้ นอกจากใช้เพื่อตกแต่งอาคารให้สวยงามและเป็นเครื่องบูชาพระแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดกระแสพลังงานที่ดี เป็นการส่งเสริมสิริมงคลในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบข้อนี้

เครื่องแขวนดอกไม้สด ทำจากดอกรักและดอกกุหลาบ


ความเป็นมาของเครื่องแขวน

สันนิษฐานว่า งานดอกไม้สด ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัย พุ่ม หรือเครื่องแขวน คงเป็นงานฝีมือที่สืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ครั้งเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในประดิษฐ์ดอกไม้ คือ เจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่านยังได้ฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาแก่พระธิดาและพระนัดดา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ให้เป็นช่างดอกไม้สืบวิชาต่อมา

งานดอกไม้สดมีพัฒนาเรื่อยมา และมีหลักฐานปรากฏชัดเจนมากขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทั้งในด้านการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และภาพถ่าย


 
หม่อมศรีพรหมมากำลังร้อยมาลัย 
ภาพจาก 

เนื่องจากเราค้าขายกับชาวต่างชาติ หลายชาติหลายภาษา ทำให้รูปแบบของเครื่องแขวนดอกไม้สดได้รับการพัฒนาให้หลากหลาย เช่น การทำล้อโคมจีน หรือโคมไฟยุโรป เป็นต้น

ประกอบกับเจ้านายฝ่ายในและข้าหลวงมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการประกวดประขัน คิดประดิษฐ์งานดอกไม้สดให้งดงาม แปลกตา

โดยส่วนใหญ่ทำเพื่อบูชาพระและใช้ในพระราชพิธี เช่น การร้อยพวงมาลัยเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงนำไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระแก้วมรกต การทำเครื่องแขวนเพื่อนำไปประดับตามพระที่นั่งต่างๆ หรือใช้ตกแต่งช่องประตูหน้าต่างเมื่อมีงานพระราชพิธี

ในยุคนื้ ผู้ที่มีชื่อเสียงในการประดิษฐ์งานดอกไม้สด ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดากรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ 
พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว


การประดิษฐ์ดอกไม้สดกระจายไปตามตำหนักต่างๆ เหล่าข้าหลวงไม่ว่าตำหนักใดก็ได้รับการฝึกหัด ต่อมาเมื่อออกเรือนไป หรือออกไปอาศัยนอกวัง ก็นำวิชาความรู้เหล่านี้ติดตัวออกไปเผยแพร่สู่ภายนอก

ปัจจุบัน ภายในพระราชวัง ยังคงมีการประดิษฐ์งานดอกไม้สด และดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยวัสดุอื่นทดแทน เพื่อใช้การพระราชพิธีต่างๆ โดยมีข้าหลวงฝ่ายในเป็นผู้รับหน้าที่ในการจัดทำ

ดังเช่น มาลัยข้อพระกร ที่ผู้เฝ้าถวายเมื่อรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ในงานต่างๆ เครื่องแขวนที่ประดับตกแต่งในพระที่นั่ง งานพุ่มทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ในงานพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้น


มาลัยข้อพระกร พุดล้วนเข้าช่อดอกไม้ประดิษฐ์จากกล้วยไม้สีม่วง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี


เครื่องแขวน เดิมนั้นทำจากดอกไม้สด แต่เมื่อนำขึ้นประดับแล้ว ไม่กี่วันดอกไม้ก็เหี่ยวแห้ง แต่การแขวนประดับนั้นบางคราวก็แขวนกันไว้ยาวนาน จึงเกิดการหาวัสดุทดแทนที่จะทำให้เครื่องแขวนคงความสวยงามอยู่ได้หลายเพลา

กำเนิดของวัสดุสมัยใหม่ เช่น รักพลาสติก ดอกไม้ผ้า ลูกปัด ดอกไม้ดินปั้น จึงถูกนำมาใช้ทำเครื่องแขวน ด้วยความคงทน คุ้มค่ากับการเสียเวลาในการประดิษฐ์ เครื่องแขวนที่ทำจากวัสดุประดิษฐ์จึงได้รับความนิยมแทนของสด