วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

 

#บุหงา #บุหงารำไป

 



 ผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งของแก้มนวล คือ #บุหงาพัดโบก เป็นเครื่องหอมสำหรับตั้งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ภายในตัวพัดโบก บรรจุดอกไม้แห้งที่อบกลิ่นหอมแล้ว เรียกกันว่า บุหงา หรือบุหงารำไป

 

บุหงารำไป เป็นคำไทยที่รับมาจากชวา

 

บุหงา หมายถึง ดอกไม้ รำไป หมายถึง เบ็ดเตล็ด

 

บุหงารำไป จึงมีความหมายว่า ดอกไม้หลายชนิด

 

(ที่มาข้อมูล : www.phufa.org)

 

ตัวบุหงารำไปที่อบร่ำกลิ่นหอมแล้วนี้ คือการนำดอกไม้หรือใบไม้สดไปทำให้แห้ง แล้วนำมาอบกลิ่นหอมตามต้องการ นำไปบรรจุในภาชนะต่างๆ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แล้วแต่รูปแบบของภาชนะที่บรรจุ

 

อย่างเช่น บุหงาพัดโบก เป็นการนำเครื่องหอมและงานฝีมือจำลองเครื่องสูงมาผสมผสานกัน ทำให้ได้งานประดิษฐ์ที่สวยงามและมีกลิ่นหอม ใช้เป็นของขวัญของชำร่วย และต่อมาแก้มนวลได้นำมาประยุกต์เพิ่มเติมเป็นเครื่องหอมสำหรับตกแต่งแท่นบูชา และถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

บุหงาพัดโบกแก้มนวล

การทำบุหงาในวังนั้น มาจากการนำดอกไม้ที่เหลือจากการร้อยมาลัยและงานดอกไม้สดต่างๆ มาตากแห้ง เป็นการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า และเป็นการเก็บรักษาความหอมให้ยาวนาน

 

จากนั้นนำดอกไม้แห้งเหล่านั้นมาอบร่ำกลิ่นหอม ก่อนนำมาบรรจุภาชนะรูปทรงต่างๆ เช่น นำใบบางมาเย็บทำพัดโบก ใบบางรูปหัวใจ เป็นต้น

 

บุหงาหัวใจ

ดอกไม้ที่นิยมนำมาทำแห้ง ก็เช่น กุหลาบมอญ มะลิ ใบเตย พิกุล ส่วนใหญ่ก็ใช้เพียงเท่านี้ เพราะดอกไม้ไทยชนิดอื่น นอกจากหายากแล้ว ยังมีขนาดและปริมาณที่ไม่เหมาะกับการทำบุหงา

 

ส่วนดอกไม้ที่นิยมกันว่ามีชื่อมงคลอย่าง บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ในการใช้งานจริงกลับไม่มีการนำมาใช้

 

ตอนเรียนวิชาเครื่องหอมไทย ผู้เขียนก็จำมาจากหนังสือว่า ใช้ดอกบานไม่รู้โรย พอพูดขึ้นในระหว่างที่หาดอกไม้ อาจารย์หันมามองหน้า แล้วบอกว่า “ใช้ทำไม มันมีขน คัน”

 

ผู้เขียนจึงได้รู้ว่า บางครั้ง สิ่งที่นิยมกัน สิ่งที่เผยแพร่กัน ก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง ต้องมาจากประสบการณ์ตรงจากครูผู้สอนเท่านั้น

 

บุหงารำไปเหล่านี้ นิยมใส่ถุงผ้าโปร่ง ถุงผ้าลูกไม้ หรือไม่ก็ประดิษฐ์ประดอยจากใบบาง เป็นรูปทรงสวยงาม และนิยมใช้ทำเป็นของชำร่วยในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่งงาน โดยเฉพาะบุหงาพัดโบก และบุหงารูปหัวใจ

 

ครั้งหนึ่งอาจารย์พิม ผู้สอนวิชาเครื่องหอมไทยของวิทยาลัยในวังหญิง ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

 

มีลูกค้าที่เป็นคู่แต่งงานได้มาว่าจ้างให้อาจารย์ทำของชำร่วยเป็นบุหงาพัดโบก และได้นำดอกไม้แห้งที่ยังไม่ได้อบกลิ่นจากท้องตลาด ซึ่งเราคงเคยเห็นกันแล้ว เป็นใบไม้ ฝัก และผลแห้งของไม้บางชนิด มักย้อมสีมาอย่างสวยงาม มาให้อาจารย์ใช้แทนดอกไม้แห้งที่พวกเราอบกันเอง

 

อาจารย์พิมบอกว่า เขานำมาให้ทำ แล้วอาจารย์ “ทำไม่ได้”

 

ผู้เขียนงง “ทำไมละคะอาจารย์” มือระดับอาจารย์มีหรือจะทำบุหงาไม่ได้

 

อาจารย์พิมทำหน้าซีเรียสตอบว่า “มันใส่ไม่เข้า”

 

ผู้เขียนถึงบางอ้อ แล้วก็นึกขำ อึ่ม! จริงด้วย เพราะบุหงาแห้งในท้องตลาด เขาต้องการรูปทรงของบุหงาที่สวยงาม จึงเป็นใบไม้หรือผลชิ้นใหญ่ และแข็ง

 

การอบควันเทียนบุหงาแห้ง


ขณะที่บุหงาไทย ที่เราได้จากการอบเอง มีความบาง เล็ก และนุ่ม จึงสามารถสอดเข้าในช่องเล็กๆ ของใบบางที่เราเย็บเป็นแบบบุหงาไว้ได้

 

ผู้เขียนเองก็เคยคิดที่จะซื้อบุหงาแห้งแบบยังไม่อบกลิ่นตามท้องตลาดมาใช้งานเหมือนกัน นี่ดีว่า ได้ฟังประสบการณ์ของอาจารย์พิมเสียก่อน ไม่งั้นคงเสียค่าโง่ไปหลายบาท 5555

 

นอกจากบุหงาแบบแห้งแล้ว ยังมีบุหงาแบบสดอีกด้วยนะคะ ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังค่ะ

 

##########

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้จากหน้าเฟซบุคแฟนเพจ แก้มนวล https://www.facebook.com/gaemnual

ดูข้อมูลเพิ่มเติม บุหงาพัดโบก ที่นี่

สั่งซื้อสั่งทำผลิตภัณฑ์ได้ที่ Line ID : mystica4u

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น